ในยุคปัจจุบันที่โลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจนนำมาซึ่งปัญหาต่าง ๆ รถยนต์ไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) ก็ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก เนื่องจากใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน จึงไม่มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อน เรียกได้ว่าเป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า มีระบบต่างจากรถยนต์ทั่วไปที่เราคุ้นเคย รวมทั้งมีวิธีการชาร์จหลากหลายรูปแบบ จึงอาจทำให้ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นครั้งแรกเกิดความสับสน ไม่รู้ว่าควรเลือกอย่างไรดีใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นก็ต้องห้ามพลาด บทความ วิธีการเลือก รถยนต์ EV หรือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีสิ่งใดที่เราต้องสังเกตเป็นพิเศษ เรื่องนี้เลย เพื่อช่วยให้ทุกคนรู้จักกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เราก็มีข้อมูลดี ๆ และ สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อนซื้อมาฝากกันแล้ว
รถยนต์ EV คืออะไร
- รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือที่เรานิยมเรียกกันว่ารถ EV (Electric Vehicle) นั้น คือรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์ โดยระบบจะเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้ และแปลงพลังงานจากแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งต่างจากรถยนต์น้ำมันทั่วไปที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์แบบสันดาปและมีการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง โดยข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า คือ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เนื่องจากใช้พลังงานไฟฟ้า 100% จึงไม่มีไอเสีย และไม่มีการปล่อยมลพิษออกมา ทั้งยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า เพราะไม่จำเป็นต้องเสียค่าน้ำมัน และมีชิ้นส่วนในการบำรุงรักษาน้อย นอกจากนี้ เนื่องจากไม่ต้องใช้การจุดระเบิดเผาไหม้ในการขับเคลื่อนเหมือนรถยนต์น้ำมัน ทำให้เครื่องยนต์เงียบ ไม่ส่งเสียงรบกวนขณะขับขี่อีกด้วย หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับรถยนต์ไฟฟ้า กันไปแล้ว ต่อไปเรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าสำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ในการขับเคลื่อน และจำเป็นต้องชาร์จไฟนั้น มีจุดใดที่ควรให้ความสำคัญและควรตรวจสอบก่อนเลือกซื้อบ้างเราไปรับชมกันในหัวข้อด้านล่างเลย
วิธีการเลือก รถยนต์ EV
- เลือกจากปริมาณความจุของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ยิ่งมีปริมาณความจุของแบตเตอรี่มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อ อย่าลืมตรวจสอบปริมาณความจุของแบตเตอรี่กันด้วยนะคะ โดยแบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า มีอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ Lead-Acid, NiMH (Nickel-Metal Hydride), Ni-Cd (Nickel-Cadmium) และ Li-Ion (Lithium-Ion) ซึ่ง Li-Ion (Lithium-Ion) เป็นประเภทที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด เนื่องจากมีน้ำหนักเบา มีขนาดเล็ก จ่ายพลังงานได้อย่างรวดเร็ว และเป็นแหล่งจ่ายพลังงานที่มีความจุมากถึง 100 – 400 kWh นอกจากปริมาณความจุของแบตเตอรี่แล้ว การจราจร สภาพท้องถนน และการใช้แอร์ภายในห้องโดยสารก็มีผลต่อการใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากคุณต้องการรถยนต์ไฟฟ้า ที่วิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง เราขอแนะนำให้เลือกรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีความจุของแบตเตอรี่ 40 kWh ขึ้นไป
- เลือกจากหัวชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้า
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีหัวชาร์จหลายแบบ และมีระยะเวลาในการชาร์จกับความสามารถในการรองรับกระแสไฟแตกต่างกัน เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการ อย่าลืมตรวจสอบประเภทของหัวชาร์จกันด้วยนะคะ โดยหัวชาร์จของรถยนต์ไฟฟ้านั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทด้วยกัน ดังนี้
- หัวชาร์จสำหรับไฟกระแสสลับ (AC) Type 1 เป็นหัวต่อแบบ 5 Pin และเป็นการชาร์จแบบ Single Phase สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ 7.4 kWh
- หัวชาร์จสำหรับไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) Type 2 เป็นหัวต่อแบบ 7 Pin โดยทั่วไปสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ 3.7 kWh แต่หากเป็นการชาร์จแบบ 3 Phase สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ 22 kWh
- หัวชาร์จสำหรับไฟฟ้ากระแสตรง (DC) CHAdeMO พบได้ในรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ค่อยแพร่หลายในประเทศไทย
- หัวชาร์จสำหรับไฟฟ้ากระแสตรง (DC) Combined Charging System มีกำลังในการจ่ายไฟสูง รองรับทั้งการชาร์จแบบกระแสตรงและกระแสสลับ โดยส่วนบนของปลั๊กจะใช้สำหรับกระแสไฟสลับ และส่วนล่างใช้สำหรับไฟกระแสตรง
นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังมีรูปแบบการชาร์จไฟอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ แบบ Quick Charge เป็นการชาร์จไฟกระแสตรง, Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box ซึ่งเป็นการชาร์จด้วยไฟด้วยกระแสไฟฟ้าสลับ (AC Charging) และ Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง ซึ่งมิเตอร์ไฟของบ้านจะต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 15(45)A ขึ้นไป และหากคุณเลือกประเภทได้เหมาะสมกับกำลังไฟและพื้นที่ใช้สอย รับรองว่าจะสามารถใช้งานได้สะดวกและปลอดภัยแน่นอน
- เลือกจากระยะเวลาที่ใช้ในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า คุณสามารถชาร์จไฟได้ทั้งตู้ชาร์จที่ติดตั้งที่บ้าน (Wall Box) และจุดชาร์จไฟรถไฟฟ้าตามสถานีอัดประจุไฟฟ้าหรือห้างสรรพสินค้าค่ะ ซึ่งรถส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 30 นาที – 15 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ประเภทของหัวชาร์จ, ความจุของแบตเตอรี่, กำลังไฟฟ้าของจุดจ่ายไฟ, ความสามารถในการรองรับกำลังไฟ และสภาวะอากาศภายนอก โดยหัวชาร์จแบบกระแสตรงจะสามารถชาร์จได้รวดเร็วที่สุด คือภายใน 40 นาที – 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้าที่มีความจุของแบตเตอรี่มากแต่รองรับกำลังไฟได้น้อย ก็จะยิ่งใช้ระยะเวลาในการชาร์จมาก และนอกเหนือจากเรื่องแบตเตอรี่แล้ว สภาวะอากาศก็มีผลต่อระยะเวลาในการชาร์จเช่นกัน นั่นคือ ยิ่งอุณหภูมิภายนอกสูง ก็จะยิ่งทำให้ระยะเวลาในการชาร์จมากขึ้นตามนั่นเอง ดังนั้น หากคุณต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถชาร์จได้อย่างรวดเร็ว เราขอแนะนำให้เลือกรุ่นที่มีความจุแบตเตอรี่ไม่มากเกินไป พอดีกับการใช้งาน รวมทั้งรองรับการชาร์จไฟกระแสตรงและกำลังไฟสูงได้
- เลือกจากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ
เนื่องจากรถไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาในไทยไม่นาน การพิจารณาเลือกแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือและได้มาตรฐานการผลิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องมีศูนย์บริการหลังจากขายที่ได้มาตรฐาน สามารถช่วยเหลือเวลารถเกิดมีปัญหา เพราะไม่สามารถซ่อมรถ EV นอกศูนย์บริการได้
สิ่งที่ควรต้องรู้ก่อนซื้อ รถยนต์ EV
- ใช้รถ EV ต้องเตรียมที่ชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน
เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของไทยในเรื่องสถานีชาร์จยังไม่ครอบคลุม หรือหากมีสถานีชาร์จอยู่ใกล้ แต่อาจไม่มีหัวชาร์จที่ใช้ได้กับรถ EV ที่ใช้ เพราะมาตรฐานหัวชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อแตกต่างกัน เพื่อความสะดวกอาจติดตั้งที่ชาร์จไฟที่บ้าน แต่จะต้องเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้นไม่น้อยกว่า 30 แอมป์ (A) พร้อมเปลี่ยนสายเมนไฟฟ้าเข้าบ้านเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต (MCB) ให้มีขนาด 100 แอมป์(A) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และต้องเพิ่ม Circuit Breaker อีก 1 ช่องในตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) เพื่อแยกการใช้งานระหว่างเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบ้าน รวมถึงต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วเพื่อช่วยตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ กรณีหากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้าดูด นอกจากนี้ต้องเตรียมเต้ารับ (EV Socket) เพื่อเสียบชาร์จรถให้สอดคล้องกับปลั๊กของรถยนต์ในแต่ละรุ่น ทั้งนี้จุดชาร์จไฟรถ EV ในบ้าน ต้องเดินวงจรสายไฟแยกออกมาต่างหากเพื่อความปลอดภัย และต้องได้รับการติดตั้งจากช่างไฟฟ้าที่ชำนาญการเท่านั้น
- ค่าเชื้อเพลิงที่ต้องจ่าย
เมื่อเปรียบเทียบค่าเชื้อเพลิงระหว่างค่าน้ำมันกับค่าชาร์จไฟฟ้า พบว่า ค่าชาร์จไฟฟ้าของรถ EV ประหยัดกว่าค่าเติมน้ำมัน โดยค่าเติมน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.50 – 3 บาท/ กิโลเมตร ขณะที่ค่าชาร์จไฟรถ EV อยู่เฉลี่ยอยู่ที่ 0.26-0.50 บาท / กิโลเมตร จะเห็นได้ว่ารถ EV ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถน้ำมันหลายเท่าตัว
- เรื่องการซ่อมบำรุง
เมื่อเปรียบเทียบค่าซ่อมบำรุงระหว่างรถที่ใช้น้ำมันกับรถ EV พบว่ารถ EV ที่ใช้ไฟฟ้า 100% ไม่มีเครื่องยนต์ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไม่ค่อยมีปัญหาจุกจิก ทำให้ค่าซ่อมบำรุงและค่าดูแลรักษาต่ำกว่ารถที่ใช้น้ำมัน เฉลี่ยแล้วต่ำกว่า 50% ขณะที่รถน้ำมันต้องการการบำรุงรักษาที่มากกว่าเพราะเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันประกอบด้วยชิ้นส่วนมากมาย เมื่อเสื่อมสภาพต้องไล่เปลี่ยนและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องทุก ๆ 6 เดือนหรือวิ่งครบ 5,000-10,000 กิโลเมตร แต่รถไฟฟ้าหากเกิดเสียจะมีค่าอะไหล่ที่แพงกว่า เช่น ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่รถ Tesla จะอยู่ที่ 162,000 – 220,000 บาท จะเห็นได้ว่าผู้ใช้รถ EV จะสบายเรื่องการซ่อมบำรุงที่ไม่ค่อยจุกจิกไม่ต้องคอยเอารถเข้าศูนย์บ่อย ๆ แต่ถ้าหากเกิดต้องซ่อมขึ้นมา อาจต้องเสียเงินเป็นหลักแสนเลยทีเลย นอกจากนี้รถน้ำมันหากเสียสามารถหาศูนย์หรือเข้าอู่ซ่อมรถทั่วไปได้ แต่ถ้าเป็นรถ EV จะต้องเข้าศูนย์อย่างเดียวเพราะเทคโนโลยียังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
สรุป
นอกจากความจุแบตเตอรี่ ประเภทหัวชาร์จ และความเร็วในการชาร์จแล้ว อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ สถานที่ชาร์จไฟ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ จำเป็นต้องติดตั้ง Wall Box ไว้สำหรับชาร์จไฟที่บ้าน ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อ อย่าลืมตรวจสอบพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง รวมทั้งวางแผนเรื่องการเดินสายไฟและติดตั้ง Wall Box ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและสะดวกกันด้วยนะ และสุดท้ายนี้เราหวังว่า บทความ วิธีการเลือก รถยนต์ EV หรือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า มีสิ่งใดที่เราต้องสังเกตเป็นพิเศษ เรื่องนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับเพื่อน ๆ ที่ได้อ่านทุกคนนะครับ